เอสซีจี ยึดมั่นในอุดมการณ์ “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” จึงให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในองค์กรอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยมีนโยบายในการดูแลสภาพการทำงานและสวัสดิการให้แก่พนักงานที่สอดคล้องกับการทำงาน สภาพแวดล้อมด้านความเป็นอยู่ในสังคม และเปรียบเทียบได้กับสวัสดิการต่างๆ ที่สากลหรือบริษัทชั้นนำได้จัดให้ ทั้งนี้ สภาพการทำงานและสวัสดิการต่างๆ ครอบคลุมการดูแลพนักงานตั้งแต่เริ่มเข้างานไปจนหลังเกษียณอายุ

วันและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) เอสซีจีได้กำหนดวันและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับลักษณะงานของตำแหน่งงานต่างๆ และสำหรับเวลาเริ่มและเลิกงาน เอสซีจี ยังได้มีนโยบายให้แต่ละบริษัทหรือธุรกิจสามารถกำหนดเวลาเริ่มงานและเลิกงานที่เหลื่อมกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของพนักงาน

การทบทวนและออกแบบงาน (Job revisit and redesign) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เอสซีจีได้ดำเนินการโครงการทบทวนและออกแบบงาน ทั้งในมิติของสถานที่ทำงานและชั่วโมงการทำงาน โดยมีการจัดตำแหน่งงานต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานที่สำนักงาน (on site) และปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานที่สำนักงาน (on site) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) หรือปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานนอกสำนักงานได้ (outside) และปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานนอกสำนักงานได้ (outside) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) หรือปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time)

การทบทวนและออกแบบงานดังกล่าวทำให้การทำงานในเอสซีจี มีทั้งรูปแบบการทำงานที่สำนักงาน (Working-on-site) การทำงานนอกสำนักงานหรือทำงานจากที่บ้าน (Working-from-outside or Working-from-home) และมีทั้งการปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุน (Flexible working hours) หรือ ปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time work options) ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพความจำเป็นของงานที่ได้พิจารณาอย่างเหมาะสม

การจัดการสำหรับการปฏิบัติจากที่บ้าน (Working-from-home arrangements) จากการที่เอสซีจีได้กำหนดให้มีการปฏิบัติงานจากที่บ้านสำหรับงานบางกลุ่ม เอสซีจีได้จัดให้มีการสนับสนุนและการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในหลายด้าน ตั้งแต่การจัดระบบการประชุมและการสื่อสารออนไลน์ (online meeting and communication system) การสนับสนุนการจัดซื้อโต๊ะเก้าอี้ในราคาประหยัด การให้เบิกอุปกรณ์สำนักงาน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต (Internet network) การจัดให้มีโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) ในการรายงานการปฏิบัติงานประจำวัน และอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโรคติดต่อโควิด 19 (Covid-19) เอสซีจียังให้การสนับสนุนส่งชุดการตรวจหาเชื้อ (Antigen test kit) แก่พนักงานที่บ้านด้วย

วันหยุดและวันลา (Holiday and leave) เอสซีจีจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยกำหนดวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของวันลานั้น ได้จัดให้มีการลาป่วย ลาป่วยเนื่องจากการทำงาน ลาเพื่อทำหมัน ลากิจ ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อฝึกอบรม ลาคลอด ลาอุปสมบท ลาไปต่างประเทศ และลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ตามระเบียบของบริษัท

การลาคลอดบุตร ไม่ว่าพนักงานจะเป็นผู้ดูแลและเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ (Paid parental leave for primary and non-primary caregiver) เอสซีจีกำหนดวันลาเพื่อตรวจครรภ์และคลอดบุตร และจำนวนวันที่ได้รับค่าจ้างให้แก่พนักงาน โดยกำหนดให้พนักงานลาได้ 90 วันทํางานปกติโดยได้รับค่าจ้าง 90 วัน ซึ่งให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

การลาเพื่อดูแลครอบครัว (Paid family or care leave) เอสซีจีกำหนดให้มีการลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการลากิจ และการหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งพนักงานสามารถขออนุมัติใช้เพื่อไปดูแลครอบครัวได้อีกด้วย

การรักษาพยาบาล (Medicare) เอสซีจีจัดให้มีสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งแก่พนักงาน ครอบครัว และบิดามารดาของพนักงาน ครอบคลุมทั้งกรณีผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการรักษาโรคฟัน และสามารถใช้บริการรักษาพยาบาลได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของเอกชน และสถานพยาบาลของบริษัท

การสนับสนุนเมื่อพนักงานมีบุตร (Having child benefits) เอสซีจีมีนโยบายในการดูแลพนักงานเมื่อมีบุตรโดยมีสวัสดิการเงินช่วยเหลือแก่พนักงานตามระเบียบบริษัท มีนโยบายให้การสนับสนุนหรือจัดให้มีสถานที่ดูแลเด็ก (Childcare facilities or contributions) โดยให้แต่ละบริษัทหรือกิจการจัดสถานที่ดูแลเด็กโดยพิจารณาจากสถานที่ จำนวนบุตรพนักงาน และความต้องการของพนักงาน หรือกำหนดวิธีการสนับสนุนอื่นๆ ตามความเหมาะสม นอกจากนี้เอสซีจียังจัดให้มีห้องสำหรับการปั้มหรือให้นมบุตร (Breast-feeding/lactation facilities) ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ของแต่ละบริษัทหรือกิจการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานอีกด้วย

การให้การสนับสนุนหลังเกษียณอายุ (Benefits after retirement) เอสซีจีมีสวัสดิการสำหรับพนักงานหลังเกษียณอายุ โดยจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย การให้บริการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลบริษัทหลังเกษียณอายุ กิจกรรมการให้ความรู้ด้านการดำเนินชีวิตและด้านการเงินและการลงทุน และการจัดตั้งชมรมพนักงานเกษียณอายุเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชมรม และสร้างความผูกพันกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง