สุขภาพและความปลอดภัย

สุขภาพและความปลอดภัยเป็นหนึ่งในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สำคัญ (Enterprise Materiality) ของเอสซีจี โดยบูรณาการเข้ากับแผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวที่อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและคณะกรรมการความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดกลยุทธ์และติดตามอย่างสม่ำเสมอ
เอสซีจีประกาศใช้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของเอสซีจี (SCG Safety Framework) และกำกับดูแลด้วยการตรวจประเมินประสิทธิผลด้านความปลอดภัย (Safety Performance Assessment Program, SPAP) มาตั้งแต่ปี 2550 และยังคงยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย และควบคุมมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานอย่างยั่งยืนในที่สุด
เป้าหมาย
- จำนวนผู้บาดเจ็บถึงขั้นเสียชีวิตของพนักงานและคู่ธุรกิจเป็น 0
- อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงานของพนักงานในปี 2564 เป็น 0.025 ราย/ 1,000,000 ชั่วโมงการทำงาน
- อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นสูญเสียวันทำงานของคู่ธุรกิจในปี 2564 เป็น 0.025 ราย/ 1,000,000 ชั่วโมงการทำงาน
- อัตราการเจ็บป่วยและโรคจากการทำงานของพนักงานเป็น 0
กลยุทธ์
- ใช้มาตรฐานการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานและการขนส่งให้เกิดประสิทธิผลทั้งในและต่างประเทศ
- สร้างการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการค้นหาและจัดการความเสี่ยงด้วยตนเอง ปรับใช้ระบบ Performance Management System (PMS) เพื่อสร้างความมุ่งมั่นร่วมกันเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร
- นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับการปฏิบัติงานวิถีใหม่เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การเจ็บป่วยและโรคจากการทำงาน
การบริหารจัดการ
- คณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และคณะกรรมการความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ แผนงานระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เป้าหมายและตัวชี้วัดประเมิน ดูแลติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนงาน พร้อมทั้งวิเคราะห์ผลเพื่อปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- จัดตั้งทีมสอบสวนอุบัติเหตุ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละธุรกิจมาร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุ กำหนดมาตรการแก้ไขและป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงการขยายผล
- สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการ และสร้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการความเสี่ยงร่วมกัน
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
ความปลอดภัยในที่ทำงาน (Workplace Safety)
SCG Safety Framework
SCG Safety Framework ประกอบไปด้วย 13 Elements ดังนี้

เพื่อบรรลุเป้าหมายการปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน (Injury & Illness Free) ทุกบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ SCG Safety Framework
Element 1: วัฒนธรรมความปลอดภัย และความเป็นผู้นำของผู้บริหาร
ส่งเสริมเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเป็นค่านิยมหลักที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำงาน ผู้บริหารจึงมีบทบาทที่สำคัญ โดยต้องเป็นผู้นำ (Management Leadership) และให้การสนับสนุนการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นวัฒนธรรมความปลอดภัยของเอสซีจี ตามแนวปฏิบัติเรื่อง วัฒนธรรมความปลอดภัยและความเป็นผู้นำของผู้บริหาร (Safety Culture & Management Leadership Guideline)

Element 2: โครงสร้าง บทบาทหน้าที่และความรับผิดช
ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ทุกระดับในบริษัทได้รับทราบ และมีการปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบของตน ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน
Element 3: การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีการกำหนดแผนการดำเนินงาน กิจกรรมที่ต้องดำเนินการ การกำกับดูแล การกำหนดเป้าหมายเชิงรุก เชิงรับ รวมถึงกระจายตัวชี้วัดนั้นให้สอดคล้องไปยังระดับบุคคล /หน่วยงาน (KPI Deployment) เพื่อให้สามารถใช้วัดผลการดำเนินงาน การติดตามและใช้เป็นตัวประเมิน performance ในระดับบุคคล / หน่วยงาน (PMS) และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Element 4: ความรู้ความสามารถ จิตสำนึก และการฝึกอบรม
เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ความสามารถให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ตามความเสี่ยงและส่งเสริมจิตสำนึกด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยด้วยการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

หลักสูตรอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับพนักงาน คู่ธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ

* = อ้างอิงตามความเสี่ยงของงานในแต่ละตำแหน่ง
Element 5: การตรวจประเมินระบบ
เพื่อประเมินความสอดคล้อง และสมรรถนะการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย พร้อมนำผลที่ได้มาแก้ไขป้องกัน เพื่อปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง ทุกบริษัทต้องดำเนินการตรวจประเมินภายใน ที่ครอบคลุมข้อกำหนด SCG Safety Frameworkและรายงานผลการประเมินตนเองผ่าน SPAP self-declaration อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และตรวจประเมินจากบุคลากรภายนอกบริษัท ในหัวข้อการประเมินความสอดคล้องตามกฎหมาย (Compliance Audit) อย่างน้อยทุกๆ 2 ปี
Element 6: การสอบสวนและการวิเคราะห์อุบัติการณ์
เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขและการป้องกันอุบัติการณ์ที่ส่งผลให้เกิด การบาดเจ็บทั้งจากการทำงาน นอกงาน (Off The Job) การเจ็บป่วยและโรคจากการทำงาน รวมถึงภาวะฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเก็บ รวบรวม และรายงาน ข้อมูลอุบัติการณ์ด้าน อาชีวอนามัย ความปลอดภัย (Safety Incident Information and Reporting Standard) และ มาตรฐานการสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติการณ์ (Incident Investigation & Analysis)
Element 7: การบริหารความเสี่ยง
เพื่อชี้บ่ง ประเมินระดับความเสี่ยง นำไปสู่การกำจัด ลด และควบคุมอันตราย หรือความเสี่ยงเหล่านั้นให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ในทุกกิจกรรม กระบวนการ ทุกพื้นที่ และผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยนำผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงมาวิเคราะห์ ทั้งในด้านการพัฒนาระบบ (System improvement) และในด้านการบริหารความเสี่ยง (Risk management) เช่น วิเคราะห์จำนวนความเสี่ยงในแต่ละระดับ การวิเคราะห์ประเภทหรือลักษณะปัจจัยอันตรายที่ได้จากการประเมิน หรือ วิเคราะห์ผลการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมความเสี่ยงตามที่ได้ระบุ ในระดับของบริษัท เป็นต้น เพื่อนำมากำหนดเป้าหมาย แผนงานในการปรับปรุงต่อไป

Element 8: การจัดการการเปลี่ยนแปลง
เพื่อให้มีการพิจารณาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสำหรับโครงการใหม่ และเพื่อให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงมีการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มดำเนินการ โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of Change Standard)
Element 9: การเตรียมพร้อมและการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทมีความพร้อมของทรัพยากร และวิธีการในการบริหารทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการตอบโต้และบริหารภาวะฉุกเฉินที่สอดคล้องกับความเสี่ยงของบริษัท เช่น อัคคีภัย ระเบิด สารเคมีรั่วไหล และครอบคลุมถึงเหตุแผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ เป็นต้น แต่ละบริษัทต้องจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานและแผนปฏิบัติการด้านภาวะฉุกเฉิน จัดให้มีการอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานและฝึกซ้อมการปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเตรียมพร้อมและการตอบสนองภาวะฉุกเฉิน (Emergency Planning and Response Standard)
Element 10: ความมั่นคงของกลไกการทำงาน
เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้ของเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปฎิบัติงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายในระดับที่มีความรุนแรงสูงต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงกระบวนการผลิตที่ต้องหยุดชะงักตลอดสายการผลิตในแผนกนั้นๆ หรือมีผลกระทบต่อการผลิตที่ต้องหยุดชะงักในแผนกอื่นๆ ด้วย โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานความมั่นคงของกลไกการทำงาน (Mechanical integrity standard)
Element 11: อาชีวอนามัย
ระบบบริหารจัดการสุขภาพที่บูรณาการด้านอาชีวอนามัยและสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มีการประเมินความเสี่ยงสุขภาพเพื่อนำมากำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยง แผนประเมินการสัมผัสด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม โปรแกรมการเฝ้าระวังสุขภาพที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงที่สัมผัส และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ เพื่อพิจารณาแนวโน้มความผิดปกติซึ่งเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและโรคจากการทำงาน รวมถึงใช้พิจารณาความพร้อมของสุขภาพก่อนมอบหมายงานที่เหมาะสม และกำหนดโปรแกรมการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ปฏิบัติงาน โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการประเมินความเสี่ยงสุขภาพและการจัดการความเสี่ยง (Health Risk Assessment and Risk Management Standard) มาตรฐานการเฝ้าระวังสุขภาพ (Health Surveillance Standard) และมาตรฐานการตรวจวัดทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Hygiene Monitoring Standard)
Element 12: การบริหารความปลอดภัยคู่ธุรกิจ
การบริหารความปลอดภัยคู่ธุรกิจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

คู่ธุรกิจมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน จึงเน้นการอบรมและสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของคู่ธุรกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปราศจากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน (Injury & Illness Free) อย่างแท้จริง โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบริหารจัดการความปลอดภัยคู่ธุรกิจ (Contractor Safety Management Standard) และมาตรฐานการบริหารความปลอดภัยคู่ธุรกิจสำหรับงาน Service Solutions (Contractor Safety Management for Service Solutions Standard)
เป้าหมายและผลการดำเนินงานการบริหารความปลอดภัยคู่ธุรกิจ
เป้าหมาย | ผลการดำเนินงาน 2564 |
---|---|
100% คู่ธุรกิจในกระบวนการผลิตผ่านการรับรองความปลอดภัย | 85% |
100% คู่ธุรกิจขนส่งประจำผ่านการรับรอง | 100% |
100% คู่ธุรกิจที่มีมูลค่าการจัดหามากกว่า 1 ล้านบาทผ่านการประเมินด้านความยั่งยืน (ESG Risk) | 100% |
95% คู่ธุรกิจตามมูลค่าการจัดหาแสดงความมุ่งมั่นปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ธุรกิจของเอสซีจี | 93% |
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2564 การสร้างความยั่งยืนสู่คู่ธุรกิจ
Element 13: การปฏิบัติงานอย่างปลอดภัย
เพื่อสนับสนุนการนำระบบบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปสู่การปฏิบัติ ควบคุมและลดโอกาสในความเสี่ยง ปัจจุบัน เอสซีจีจัดทำมาตรฐานที่แต่ละบริษัทต้องนำไปปรับใช้เป็นขั้นต่ำ เช่น
- การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัย (Electrical Safety)
- ระบบควบคุมการตัดแยกพลังงาน (Energy Isolation and Lockout Tagout System)
- ระบบการอนุญาติปฏิบัติงาน (Work Permit System)
- การทำงานยกเคลื่อนย้ายวัสดุอย่างปลอดภัย (Lifting Safety)
- การทำงานในที่อับอากาศอย่างปลอดภัย (Occupational Safety in Confined Space)
- การทำงานบนที่สูง (Work at High Elevation)
- การป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร (Machinery Safeguarding)
- การจัดการสารเคมี (Chemical Management) เป็นต้น
การตรวจประเมินประสิทธิผลด้านความปลอดภัย (SPAP)
เป้าหมาย: ให้ทุกบริษัทในเอสซีจีผ่านการตรวจประเมินประสิทธิผลด้านความปลอดภัย (SPAP) ตั้งแต่ระดับ Standard ขึ้นไป
ผลการประเมิน SPAP 2564

ในปี 2564, 100% ของโรงงาน/ บริษัทย่อยในประเทศผ่านการประเมิน SPAP โดยผลตรวจประเมินภายในผ่านการประเมินตนเอง (SPAP Self-declaration) และการรับรองโดยผู้ตรวจประเมินระหว่างกลุ่มธุรกิจ มีผลการประเมินตั้งแต่ระดับ Standard ขึ้นไป 59% แบ่งเป็นระดับ Excellence เป็น 4.0% ระดับ Advance เป็น 14.7% ระดับ Standard เป็น 40.0% และระดับ Awareness เป็น 41.3% ตามลำดับ
นอกจากนี้ 90% ของบริษัทย่อยของเอสซีจี ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจากภายนอกตามมาตรฐานสากล อาทิ OHSAS/ TIS 18001/ ISO 45001- Occupational Health and Safety Management System
9 กฎพิทักษ์ชีวิต

จากการตรวจสอบที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องและการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการละเมิดกฎพิทักษ์ชีวิต ในปี 2564 มีการละเมิดโดยรวมลดลงคิดเป็น 39.13% จากปี 2563 โดยเรื่องที่มีการละเมิดเป็นส่วนใหญ่ มีดังนี้
- 51.24% ของการละเมิดทั้งหมดมาจากข้อ 7 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่ หรือเดินทางโดยรถยนต์
- 22.05% ของการละเมิดทั้งหมดมาจากข้อ 6 ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือเสพสารเสพติด เมื่อต้องทำงาน ขับขี่รถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์
- 19.25% ของการละเมิดทั้งหมดมาจากข้อ 9 ต้องไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมช่วย
ความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง
ปี 2563 นับเป็นก้าวแรกในการดำเนินแผนระยะกลาง (Medium Term Plan) ของการเป็นผู้นำด้านการขนส่งอย่างปลอดภัยในระดับอาเซียน ซึ่งเอสซีจีได้ใช้มาตรฐาน Goods Transportation Safety เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้คู่ธุรกิจขนส่งกำกับดูแลความปลอดภัยด้วยตนเอง ซึ่งรถขนส่งทุกคันต้องติดตั้งกล้องสองด้านและได้รับการติดตามตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านศูนย์ควบคุมและติดตามพนักงานขับรถ (Logistic Command Center, LCC) ของเอสซีจี และในปี 2564 ได้นำระบบ ADAS (Advanced Driving Assisting system) และระบบ DMS (Driving Monitoring System) ภายใต้แพลตฟอร์มของ G7 ซึ่งทำงานร่วมกับ GPS ติดตั้งในรถขนส่งสินค้า เพื่อปรับพฤติกรรมพนักงานขับรถให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งในรถขนส่งของ เอสซีจี โลจิสติกส์ ครบราว 3,000 คันในปี 2565 รวมทั้งได้เริ่มดำเนินการติดตั้งในรถขนส่งพนักงานแล้ว
นอกจากนี้ ในปี 2564 คณะกรรมการความปลอดภัยในการเดินทางและขนส่ง ได้มีการทบทวนแบบฟอร์มการตรวจประเมินเพื่อคัดเลือก และ/หรือ ตรวจติดตามการดำเนินการด้านความปลอดภัยของคู่ธุรกิจขนส่ง เพื่อคุณภาพในการตรวจประเมินที่ส่งผลต่อความปลอดภัยที่เข้มแข็งมากขึ้น และเริ่มใช้งานในปี 2565 เป็นต้นไป
ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ
เอสซีจีผนวกนโยบายความปลอดภัยของสินค้าและบริการเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการคุณภาพ (Quality Management System) ให้สอดคล้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability) โดยควบคุมและติดตามประสิทธิผลของการดำเนินการผ่านคณะกรรมการทบทวนระบบการจัดการคุณภาพของแต่ละบริษัท ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การประเมินอันตรายของสินค้า (Product Hazard Analysis, PHA) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิตสินค้า การขนส่ง การจัดเก็บ การใช้งาน และการจัดการเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกันข้อบกพร่องตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการจัดทำฉลากคำเตือนตามมาตรฐานสากลให้มีประสิทธิผลมากขึ้น รวมทั้งจัดให้มีมาตรการตอบสนองในการจัดการ วิเคราะห์ สอบสวนข้อร้องเรียน และเหตุฉุกเฉิน เพื่อซักซ้อมความพร้อมในการจัดการหากเกิดข้อร้องเรียนและเหตุฉุกเฉินขึ้นจริง นอกจากนี้ยังจัดให้ความรู้และฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ และมีการประเมินประสิทธิผลการดำเนินการด้วยการตรวจติดตามทั้งภายในและภายนอกของระบบ ISO 9001 อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 98% ของบริษัทย่อยของเอสซีจี ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ
นอกจากนี้ เอสซีจียังมีการดำเนินงานที่รวมถึงบริการและโซลูชันที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจภายใต้ฉลาก SCG Green Choice ด้วย เช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2564 ความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการ
กระบวนการ

เป้าหมาย | ผลการดำเนินงาน 2564 |
---|---|
ไม่มีข้อร้องเรียนอย่างมีนัยสำคัญจากการละเมิดข้อกำหนดเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย ทั้งจากการใช้สินค้า การให้ข้อมูลสินค้าและบริการ ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์ หรือสื่อโฆษณาจากลูกค้า หรือผู้บริโภค | 0 |
ไม่มีค่าปรับเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานสินค้าและบริการ | 0 |
ตัวอย่างการประเมินอันตรายของสินค้าและการจัดทำฉลากคำเตือน

เอกสารดาว์นโหลด
นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เอสซีจี
ความมุ่งมั่นด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การจัดการความเสี่ยงในสถานที่ปฏิบัติงาน และจากการเดินทางและขนส่ง
การจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต
การบริหารจัดการด้านสุขภาพ
หลักสูตรอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจากภายนอกตามมาตรฐานสากล (ISO45001)
ผลการดำเนินงานด้านสุขภาพและความปลอดภัย
มาตรฐานความปลอดภัย การขนส่งผลิตภัณฑ์
มาตรฐานการสอบสวนและวิเคราะห์อุบัติการณ์