เอสซีจี ยึดมั่นในอุดมการณ์ “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” จึงให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าในองค์กรอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยมีนโยบายในการดูแลสภาพการทำงานและสวัสดิการให้แก่พนักงานที่สอดคล้องกับการทำงาน สภาพแวดล้อมด้านความเป็นอยู่ในสังคม และเปรียบเทียบได้กับสวัสดิการต่างๆ ที่สากล หรือบริษัทชั้นนำได้จัดให้ ทั้งนี้ สภาพการทำงานและสวัสดิการต่าง ๆ ครอบคลุมการดูแลพนักงานตั้งแต่เริ่มเข้างานไปจนหลังเกษียณอายุ

วันและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) เอสซีจีได้กำหนดวันและเวลาทำงานที่ยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับลักษณะงานของตำแหน่งงานต่าง ๆ โดยมีนโยบายกำหนดชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน (ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง) เช่น เวลาเข้างาน 7.30 น. จะเลิกงานเวลา 16.30 น. หรือเวลาเข้างาน 08.30 น. จะเลิกงานเวลา 17.30 น. เป็นต้น รวมเวลาทำงานทั้งสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละบริษัท หรือธุรกิจสามารถกำหนดเวลาเริ่มงานและเลิกงานที่เหลื่อมกันได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของพนักงาน

การทบทวนและออกแบบงาน (Job revisit and redesign) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เอสซีจีได้ดำเนินการโครงการทบทวนและออกแบบงาน ทั้งในมิติของสถานที่ทำงานและชั่วโมงการทำงาน โดยมีการจัดตำแหน่งงานต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานที่สำนักงาน (On site) และปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานที่สำนักงาน (On site) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) หรือปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานนอกสำนักงานได้ (Outside) และปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent)
  • กลุ่มงานที่ปฏิบัติงานนอกสำนักงานได้ (Outside) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible working hours) หรือปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time)

การทบทวนและออกแบบงานดังกล่าวทำให้การทำงานในเอสซีจี มีทั้งรูปแบบการทำงานที่สำนักงาน (Working-on-site) การทำงานนอกสำนักงาน หรือทำงานจากที่บ้าน (Working-from-outside or Working-from-home) และมีทั้งการปฏิบัติงานเต็มเวลาปกติ (Permanent) และปฏิบัติงานโดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุน (Flexible working hours) หรือปฏิบัติงานบางช่วงเวลา (Part-time work options) ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาพความจำเป็นของงานที่ได้พิจารณาอย่างเหมาะสม

การจัดการสำหรับการปฏิบัติจากที่บ้าน (Working-from-home arrangements) เอสซีจีกำหนดให้มีการปฏิบัติงานจากที่บ้านสำหรับงานบางกลุ่ม โดยสนับสนุนและจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานในหลายด้าน ตั้งแต่การจัดระบบการประชุมและการสื่อสารออนไลน์ (Online meeting and communication system) การจัดให้มีโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) ในการรายงานการปฏิบัติงานประจำวัน และอื่น ๆ

วันหยุดและวันลา (Holiday and leave) เอสซีจีจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยกำหนดวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ในส่วนของวันลานั้น ได้จัดให้มีการลาป่วย ลาป่วยเนื่องจากการทำงาน ลาเพื่อทำหมัน ลากิจ ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาเพื่อฝึกอบรม ลาคลอด ลาอุปสมบท ลาไปต่างประเทศ และลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร ตามระเบียบของบริษัท

การลาของบิดามารดาเนื่องจากการมีบุตร (Paid parental leave for primary and non-primary caregiver) เอสซีจีกำหนดการลาของบิดามารดาเนื่องจากการมีบุตร โดยให้มารดาสามารถลาก่อนและหลังคลอด รวมถึงเพื่อการตรวจครรภ์ 90 วันทำงานปกติ โดยได้รับค่าจ้าง 90 วัน (เกือบ 13 สัปดาห์) และให้บิดาลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 3 วันทำงาน ซึ่งเป็นการลาที่นอกเหนือจากการลาหยุดพักผ่อนประจำปีและการลาอื่น ๆ โดยกำหนดให้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด

การลาเพื่อดูแลครอบครัว (Paid family or care leave) เอสซีจีกำหนดให้พนักงานสามารถลาเพื่อดูแลบุคคลในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส บุตร บิดามารดา ญาติพี่น้อง ฯลฯ โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งเป็นการลาที่นอกเหนือจากการลาของบิดามารดาเนื่องจากการมีบุตร

การรักษาพยาบาล (Medicare) เอสซีจีจัดให้มีสวัสดิการรักษาพยาบาลทั้งแก่พนักงาน ครอบครัว และบิดามารดาของพนักงาน ครอบคลุมทั้งกรณีผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และการรักษาโรคฟัน และสามารถใช้บริการรักษาพยาบาลได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐ สถานพยาบาลของเอกชน และสถานพยาบาลของบริษัท

การสนับสนุนเมื่อพนักงานมีบุตร (Having child benefits) เอสซีจีมีนโยบายในการดูแลพนักงานเมื่อมีบุตรโดยมีสวัสดิการเงินช่วยเหลือแก่พนักงานตามระเบียบบริษัท มีนโยบายให้การสนับสนุนหรือจัดให้มีสถานที่ดูแลเด็ก (Childcare facilities or contributions) โดยให้แต่ละบริษัทหรือกิจการจัดสถานที่ดูแลเด็กโดยพิจารณาจากสถานที่ จำนวนบุตรพนักงาน และความต้องการของพนักงาน หรือกำหนดวิธีการสนับสนุนอื่นๆ ตามความเหมาะสม นอกจากนี้เอสซีจียังจัดให้มีห้องสำหรับการปั้มหรือให้นมบุตร (Breast-feeding/lactation facilities) ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ของแต่ละบริษัทหรือกิจการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พนักงานอีกด้วย

การบริหารสุุขภาวะที่ดีทางใจ (Workplace stress management) เอสซีจีคำนึงถึงการมีสุขภาวะที่ดีทางใจของพนักงาน มุ่งป้องกันและบรรเทาภาวะความเครียดที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากในงานและนอกงาน จึงจัดให้มีระบบ Caring Check ที่พนักงานสามารถสอบถาม เปิดเผย หรือแลกเปลี่่ยนข้อมููลอันเกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจของตนเอง ระบบ Doctor Anywhere ที่พนักงานสามารถเข้ารับการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาผ่านทางออนไลน์ และยังจัดให้มีจิตแพทย์ประจำศูนย์ดูแลสุขภาพพนักงาน (Health Care Center) เพื่อให้พนักงานสามารถนัดหมายเข้าพบ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทางใจอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

กีฬาและสุขภาพ (Sport & health initiatives) เอสซีจีสนับสนุนส่งเสริมสุขภาพที่ดีของพนักงานทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจ รวมถึงกิจกรรมด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โปรแกรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่     เอสซีจีได้ดำเนินการ เช่น เอสซีจีฟิตเนตเซ็นเตอร์ ลู่วิ่งและอุปกรณ์และสถานที่การออกกำลังกาย ห้องกิจกรรมการออกกำลังกาย กิจกรรมการแข่งขันกีฬาและส่งเสริมสุขภาพต่าง ๆ โครงการ Fit for Work Fit for Life การให้ความรู้ด้านสุขภาพรวมถึงโภชนาการ การตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี เป็นต้น

  • 90 Day Unleash Your Power: กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของพนักงาน ด้วยการแข่งขันออกกำลังกายสะสมแคลอรี่ ไม่จำกัดรูปแบบและสถานที่ ลุ้นรับของรางวัลมากมาย
  • NCDs Prevention Program: สร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง(Non-Communicable Diseases: NCDs) จำนวน 4 โรค คือ อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันโลหิตและไขมันในเลือดด้วยหลัก 3อ: อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์

การให้การสนับสนุนหลังเกษียณอายุ (Benefits after retirement) เอสซีจีมีสวัสดิการสำหรับพนักงานหลังเกษียณอายุ โดยจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย การให้บริการรักษาพยาบาล ณ สถานพยาบาลบริษัทหลังเกษียณอายุ กิจกรรมการให้ความรู้ด้านการดำเนินชีวิตและด้านการเงินและการลงทุน และการจัดตั้งชมรมพนักงานเกษียณอายุเพื่อจัดกิจกรรมต่างๆ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในชมรม และสร้างความผูกพันกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง