ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยพลังชุมชน

ความเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นปัญหาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในสังคมไทย ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ที่ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ประกอบกับการขาดความรู้ ขาดโอกาสกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติซ้ำเติม ทั้งน้ำแล้งน้ำหลาก

เอสซีจีถือเป็นความรับผิดชอบขององค์กรในการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ESG โดยพัฒนาแนวทาง ESG 4 Plus “มุ่ง Net Zero-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำย้ำร่วมมือ” ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยการมุ่งเน้นจัดการปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการมีส่วนร่วมช่วยเหลือเสริมทักษะสร้างอาชีพ อันจะนำมาสู่การสร้างรายได้ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสำคัญในสังคมให้ได้อย่างยั่งยืน

เส้นทาง…สร้างพลัง

“เป็นชาวนาที่โดนน้ำท่วม เป็นผู้ประสบภัยที่มองไม่เห็นทางออก เมื่อได้เข้าร่วมโครงการพลังชุมชนของเอสซีจีทำให้ชีวิตชาวนาเปลี่ยนไป มีเป้าหมาย มีความหวัง มีความสุข ได้พัฒนาตัวเองตั้งแต่การแปรรูป การขยายตลาด เชื่อมโยงวัตถุดิบต้นน้ำ การผลิตกลางน้ำ การตลาด ปลายน้ำ ไปถึงส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรงจากการเรียนรู้สู่การแบ่งปันให้ผู้อื่น เป็นต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและต้นแบบครอบครัวอบอุ่น ทำ ให้เกิดสำนึกรักท้องถิ่น ไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง และให้คำปรึกษาคนที่จะกลับมาพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์”

ฟ้าเสรี ประพันธา ชาวอุบลราชธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการพลังชุมชนของเอสซีจี สะท้อนความรู้สึกถึงโครงการ ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกชีวิตของเธอให้พ้นจากวิกฤตความยากจน“พลังชุมชน” เป็นทั้งชื่อโครงการและเป้าหมายในการปลุกพลังของชุมชน ให้สามารถลุกขึ้นมาพึ่งพาตัวเองสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและยังสร้างเครือข่ายขยายผล สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ลุกขึ้นมาปรับตัวเปลี่ยนแปลง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืง

“การขาดความรู้ ขาดโอกาสเป็นสาเหตุแห่งปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ”

เอสซีจีลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนด้วยโครงการ “พลังชุมชน” อบรมเสริมความรู้คู่คุณธรรมสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาพัฒนาตนเอง ต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นสินค้าประจำจังหวัด เรียนรู้หลักการตลาด การค้าขายการสร้างแบรนด์สินค้า และขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์ รวมถึงการวางแผนชีวิตเพื่อความยั่งยืน

หัวใจของหลักสูตรพลังชุมชนมุ่งเน้นการพัฒนาคนเพราะหากสินค้าหมดความต้องการจากตลาด ด้วยความรู้และความคิดก็จะสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ได้อีก และการสร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีรอบตัว การรู้จักลูกค้าและตลาดก่อนผลิตและขาย

การอบรมถ่ายทอดความรู้ผ่าน 3 ศาสตร์ ศาสตร์พระราชา ความรู้คู่คุณธรรม รู้จักประมาณตน มีเหตุผลมีภูมิคุ้มกัน ศาสตร์สากล การพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดสากล และศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการบรรยายแลกเปลี่ยน

ประสบการณ์ ให้โจทย์กลับไปคิดหาทางออกหรือลงมือทำ และเรียนรู้ดูงานจากบุคคลต้นแบบที่พลิกวิกฤตชีวิตจนประสบความสำเร็จ

จากที่ไม่รู้ก็ได้รู้ จากที่ไม่เคยคิด เมื่อชวนคิดก็ได้คิดได้รู้จักตั้งคำถามกับตัวเองว่า มีอะไรดีอยู่รอบตัวที่สามารถนำมาสร้างประโยชน์ มีอะไรที่ทำให้ดีขึ้นได้อีก ปรับให้มีมูลค่าและคุณค่าเพิ่มได้อีก เกิดการเติบโตและเข้มแข็งขึ้นภายในตนเอง อันเป็นรากฐานของการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน มีความเชื่อมั่นที่จะต่อสู้ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน

คนต้นแบบ และก้าวต่อไป

สายชล รักกำเหนิด ชาวสวนยาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สายชล รักกำเหนิด ชาวสวนยาง จังหวัดนครศรีธรรมราชมีอาชีพเสริมขายน้ำพริกขายผลไม้ตามฤดูกาลในท้องถิ่นต่อมาเป็นหนี้จากการเป็นเท้าแชร์ 3 ล้านบาท หมดหนทางจนคิดฆ่าตัวตาย แต่ลุกขึ้นมาสู้ต่อ มองหาวิธี ทำให้ชีวิตดีขึ้นจนได้มาเข้าร่วมโครงการ “พลังชุมชน”

“หลังเข้าอบรมพลังชุมชนเมื่อปี 2562 ได้ความรู้เรื่องการพัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์อย่างพอเพียงสู่ความยั่งยืนจึงได้เห็นว่าทุกอย่างรอบตัวมีคุณค่า สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด และที่สำคัญคือ เรื่องเครือข่ายชุมชนที่ช่วยต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนได้เป็นอย่างดี” สายชล  รักกำเหนิด เล่าย้อนเส้นทางของตน ในวันที่เธอกลับมายืนหยัดได้อย่างมั่นคงแล้ว

ประจักษ์พยานที่เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์คือ หลังผ่านการอบรมพลังชุมชนราว 4-5 เดือน เป็นฤดูมังคุดนครศรีฯซึ่งปกติขายในท้องถิ่นเป็นหลัก สายชลสามารถขยายช่องทางการขายสู่ตลาดออนไลน์ผ่านเครือข่ายชุมชนจนสามารถปลดหนี้และไถ่ถอนที่ทำกินคืนมาได้ในระยะเวลาอันสั้น

เป้าหมายต่อไปคือสร้างโรงเรือนผลิตและแปรรูปอาหาร เพิ่มรายได้สร้างความสมบูรณ์ให้ครอบครัวและสร้างรายได้ ให้ชุมชน สายชลนับเป็นหนึ่งในต้นแบบของปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า “คนปรับ ชุมชนเปลี่ยน” เช่นเดียวกับเรื่องของ เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิง เจ้าของผลิตภัณฑ์ “พอดีคำ by แม่หนิงภูดอย” จากอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

เกศรินทร์ กลิ่นฟุ้ง หรือแม่หนิง เจ้าของผลิตภัณฑ์ “พอดีคำ by แม่หนิงภูดอย”

ความรู้จากพลังชุมชนทำให้แม่หนิงได้พัฒนาขนมบ้านๆ ที่มีขายทั่วไปอย่างพายไส้สับปะรดรูปตัวหนอนรังไหม ให้เปลี่ยนโฉมใหม่เป็น “กุ๊กไก่ไส้สับปะรด” พายไส้สับปะรดรูปไก่ สัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง

“เนื่องจากเราได้รับโจทย์จากการอบรมว่า จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างได้อย่างไรและมีเป้าหมายในการผลิตและจำหน่ายอย่างไร”

เมื่อตอบโจทย์แรกเรื่องอัตลักษณ์ได้แล้ว เธอแก้โจทย์ข้อต่อๆ มาเรื่อง เป้าหมายการผลิตและจำหน่าย โดยการฝากขายตามร้านกาแฟ ร้านก๋วยเตี๋ยว ในอำเภอแจ้ห่มรวมทั้งการขายตามวาระหรือเทศกาล แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ โควิด 19 ร้านค้าถูกปิด การขายตามร้านได้รับผลกระทบ แม่หนิงก็ปรับการขายผ่านช่องทางไลน์ อินบอกซ์และโทรหาลูกค้าตรง พร้อมเพิ่มชนิดของสินค้าใหม่ เช่นขนมเปี๊ยะหัวเหม่งไส้ถั่วไข่เค็ม ทำให้มีรายได้กลับฟื้นคืนมาเท่าเดิม “หากเรามีเป้าหมายชัดเจนแล้ว ต้องลงมือทำทันที ไม่ว่าจะเจอปัญหาอุปสรรคหนักแค่ไหน เราจะหาวิธีและผ่านไปได้”

จากที่ชุมชนส่วนใหญ่มักจมอยู่กับความคิดว่าต้องขอการสนับสนุนจากภายนอก ขาดความมั่นใจว่าตัวเองสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ด้วยความเชื่อมั่นว่า “มนุษย์สามารถพัฒนาตนเอง” เป้าหมายของโครงการ “พลังชุมชน” จึงเป็นการเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด ให้ชาวบ้านเกิดความคิดใหม่ว่าตัวเองเป็นที่พึ่งของตัวเอง หากแม้เจอวิกฤตในอนาคตก็สามารถลุกขึ้นมาได้ด้วยตนเอง

“พลังชุมชน” อบรมให้ความรู้ชุมชนแล้วกว่า 400 รายใน 13 จังหวัด คือ ลำปาง กาญจนบุรี สระบุรี นครศรีธรรมราชเชียงราย แพร่ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ลำพูน และตาก ชุมชนหยัดยืนได้ สร้างรายได้แต่ละราย เดือนละเป็นหมื่นถึงหลักแสน และจะยังขยายต่อเพราะความเหลื่อมล้ำยากจนยังคงมีอยู่ในอีกหลายพื้นที่